หมอต้นไม้ วิเคราะห์ “ต้นยางนาล้ม..จากเหตุพายุ”
แนะวิธีสแกนโพรงในลำต้นและระบบราก ประเมินความเสี่ยง
จากเหตุการณ์ลมพายุพัดต้นยางล้ม
เมื่อเวลา 20.30 น. ของวันที่ 7 พ.ค. 2563 เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงในพื้นที่อำเภอสารภี มีผลทำให้ต้นยางนาหมายเลข 344 และ 384 ด้านฝั่งตะวันออก ล้มทั้งต้น ในเขตเทศบาลตำบลยางเนิ้ง บริเวณหมู่ 5 บ้านศรีโพธิ์ธารามและ หมู่ 7 บ้านต้นเหียว เบื้องต้นมีบ้านเรือนได้รับความเสียหายและพาดสายไฟฟ้าทำให้เสาไฟฟ้าล้มลง ไม่มีคนได้รับบาดเจ็บ
ในช่วงเช้าวันที่ 8 พค.63 มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงไปดูพื้นที่และประสานความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยมี องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอสารภี เทศบาลตำบลยางเนิ้ง การไฟฟ้าเขต 1 เขต 2 และสาขาสารภี มทบ.33 เชียงใหม่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านยางเนิ้ง อาสาพระราชทาน อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัยและทีมหมอต้นไม้อาสา เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม และอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา โดยสภาพต้นยางที่ล้มเพราะแรงลมนั้น ทางทีมหมอต้นไม้วิเคราะห์สาเหตุได้ดังนี้
ต้นยางนา หมายเลข 334 ฝั่งตะวันออก บริเวณซอยชมชื่นสุวรรณหงส์ 34 ยางเนิ้ง หน้าบ้านเลขที่ 80 หมู่ 7 ยางเนิ้ง
1.พื้นที่ตั้งของต้นยางนาเป็นอุโมงค์ลม ซึ่งลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นช่องลมไม่มีต้นไม้หรืออาคารบดบังต้านทานลมไว้ แรงลมจึงปะทะเข้ากับต้นยางหมายเลข 334 อย่างเต็มที่ด้วยความเร็วและแรง
2.สภาพรากถูกทำลายเสียหายอย่างมาก ทำให้เสียหลักสมดุลในการยึดพื้นไว้ให้มั่นคงได้
3.สภาพลำต้นเป็นรูตรงกลางขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง 1.5 เมตร สูงขึ้นไปกลางลำต้น 8 เมตร ทำให้ลำต้นผุข้างใน กลวงไม่แข็งแรง ประกอบกับต้นนี้มีรอยแตกร้าว มีลวดสลิงยึดลำต้นเอาไว้ เวลามีลมแรงๆมาปะทะจะเกิดเสียงดังลั่น
4.มีลำต้นลักษณะเป็นวีเซฟ และมีกิ่งกระโดงอยู่ตรงกลางทำให้กิ่งก้านมีความหนาแน่น มีเรือนยอดแผ่กว้าง จำนวนใบดกหนา ทำให้มีทรงพุ่มหนาแน่น ไม่โปร่งไม่มีช่องลมผ่าน มีลักษณะต้านแรงลม
ต้นยางนาหมายเลข 384 ฝั่งตะวันออก บริเวณหน้าโกดังขายสินค้ามือสองญี่ปุ่น
1.พื้นที่ตั้งของต้นยางนาเป็นอุโมงค์ลม ซึ่งลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นช่องลมไม่มีต้นไม้หรืออาคารบดบังต้านทานลมไว้ แรงลมจึงปะทะเข้ากับต้นยางหมายเลข 384 อย่างเต็มที่ด้วยความเร็วและแรง
2.สภาพรากถูกทำลายเสียหายอย่างมาก รากหลักที่แผ่ออกไปมีลักษณะม้วนเข้าหาด้านข้าง ทำให้เสียหลักสมดุลในการยึดพื้นไว้ให้มั่นคงได้
3.มีลำต้นลักษณะเป็นวีเซิฟ และมีกิ่งกระโดงอยู่ตรงกลางทำให้กิ่งก้านมีความหนาแน่น มีเรือนยอดแผ่กว้าง จำนวนใบดกหนา ทำให้มีทรงพุ่มหนาแน่น ไม่โปร่งไม่มีช่องลมผ่าน มีลักษณะต้านแรงลม ทำให้เกิดสภาพหักกลางลำต้น เนื่องจากมีน้ำหนักของกิ่งใบหนาแน่นเกินไป
อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย หมอต้นไม้ และเป็นนายกสมาคมยางนาขี้เหล็กสยาม ซึ่งลงพื้นที่เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูล ได้ยกตัวอย่าง การล้มของ ต้นยางนา หมายเลข 334 โดยชี้ให้เห็นลำดับการเกิดโพรงผุ จนไม่มีแกนกลางลำต้น รากด้วน พร้อมกับระบุว่ายังมี ต้นยางนาที่ต้องสำรวจโพรงอย่างเร่งอีกหลายต้น เพื่อหาแนวทางการจัดการดูแล โดยการสแกนโพรงในลำต้นและระบบราก
ภาพและข้อมูล : ทีม หมอต้นไม้