ปริศนา “ต้นยางนา”
จาก “ไม้หมายเมือง”
สู่ “ถนนเชียงใหม่-ลำพูน”
(ตอนที่ 1)
เรื่องโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ
มีผู้ตกหลุมรัก “ถนนสายโรแมนติก” ที่ปลูกต้นไม้ร่มรื่นงดงาม เชื่อมนครเชียงใหม่-ลำพูน จำนวนไม่น้อย มาแอบสารภาพว่าถนนสายนั้นช่างให้ความรู้สึกน่าประทับใจ ประหนึ่งถนน Romantikstrasse ในประเทศเยอรมนี แถบอุทยาน Black Forest ในระดับน้องๆ เลยทีเดียว พร้อมๆ กับคำถามตามมาเป็นชุดๆ ว่า
ถนนสายดังกล่าวใครสร้าง เมื่อไหร่ ใหม่หรือเก่า ชาวล้านนาสร้างเอง หรือชาวสยาม ตะวันตกมาช่วยสร้างยุคหลัง ตัดถนนก่อนปลูกต้นไม้ หรือต้นไม้มีมาก่อนการตัดถนน รวมทั้งทำไมต้องเป็น “ต้นยางนา” ไยจึงไม่เลือกไม้พันธุ์อื่น
สารพัดสารเพปริศนาเหล่านี้ ผู้เขียนเคยขบคิด ถาม-ตอบ ตอบ-ถาม ตัวเองและสืบเสาะไถ่ถามจากผู้รู้มาอย่างเคร่งเครียดนานนับ 10 ปี จนคิดว่าน่าจะมีคำตอบที่ “ตกผลึก” มากพอระดับหนึ่ง
ตามรอย Boulevard กับปิแยร์ โอร์ต ย้อนเส้นทางหลวงสาย 106
ถนนสายเชื่อมเมืองลำพูน-เชียงใหม่ หรือเชียงใหม่-ลำพูนนั้น มีชื่อเรียกกันอยู่หลายนาม อาทิ เรียกแบบภาษาลำลองบ้านๆ ก็มักเรียกว่า “ถนนต้นยาง” บ้างเติมต้นขี้เหล็กต่อท้ายไปด้วยเป็น “ถนนต้นยาง-ขี้เหล็ก” บางคนเรียก “ถนนสายใน” “ถนนสายเก่า” “ถนนยางใหญ่” ฯลฯ
ทว่าชื่อถนนที่เป็นทางการคือ “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106” อันเป็นการบ่งบอกว่าแยกมาจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายกรุงเทพฯ-แม่สาย ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าถนนพหลโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎรผู้นำการปฏิวัติ 2475 และนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ตั้งชื่อถนนพหลโยธินเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2493
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 แยกมาจากทางหลวงหมายเลข 1 โดยเริ่มตั้งแต่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ผ่านอำเภอลี้ บ้านโฮ่ง ป่าซาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และตัดเข้าอำเภอสารภี และอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งช่วงสุดท้ายนี่เองนิยมเรียกกันว่า “ถนนต้นยาง-ขี้เหล็ก”
ถ้าเช่นนั้น ก็หมายความว่าถนนต้นยาง-ขี้เหล็ก นี่เพิ่งเป็นถนนตัดใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ในยุคคณะราษฎรเองหรือเช่นไร
ผู้เขียนมิได้หมายความเช่นนั้น เพียงแต่ต้องการอธิบายว่า การนำชื่อ “พหลโยธิน” ก็ดี หรือทางหลวง 106 ก็ดี มาใส่ให้เป็นชื่อทางการของถนนต้นยาง-ขี้เหล็กสายนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีโครงการ “ผนวก” เส้นทางสายชนบทเข้ากับเส้นทางหลวงอย่างเป็นทางการ
ฉะนี้แล้ว ถนนต้นยาง-ขี้เหล็ก สร้างเมื่อไหร่เล่า ต้องค่อยๆ ย้อนกลับไปพลิกหลักฐานด้านเอกสารเก่าเท่าที่มีการกล่าวถึงถนนสายนี้ พบว่ามีบันทึกของชาวต่างชาติที่พรรณนาถึงอยู่บ้างพอสังเขป นั่นคือ บันทึกของ “ปิแยร์ โอร์ต” ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยียม ผู้เคยเดินทางมาราชการที่หัวเมืองฝ่ายเหนือระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2440 – 5 มกราคมพ.ศ. 2441
ปิแยร์ โอร์ต ได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2440 ขณะเดินทางออกจากเมืองเชียงใหม่เข้าสู่ลำพูนว่า
“ข้าพเจ้าออกจากเชียงใหม่เมื่อเวลาบ่าย 3 โมง นับว่าเป็นการออกเดินทางที่เอิกเกริกมาก มีข้าราชการสองคนตามไปส่งพร้อมด้วยพวกเจ้าพนักงานชั้นผู้น้อย ถนนจากเชียงใหม่ไปลำพูนซึ่งข้าพเจ้าเคยกล่าวถึงด้วยความชื่นชมนั้นมิได้มีสิ่งใดพิเศษ เป็นเพียงเส้นทางที่คดเคี้ยวไปมาใต้ต้นไม้สูงหรือป่า มีธารน้ำไหลผ่านหลายแห่ง ภูมิประเทศดูเหมือนว่ามีราษฎรอาศัยอยู่หนาแน่น เราพบฝูงวัวควายที่ดูน่าชมหลายฝูง อีกราว 2 กิโลเมตรจะถึงเมืองลำพูน ข้าพเจ้าพบเจ้านายลำพูน 3 องค์ที่มาคอยรับล่วงหน้า ตอน 6 โมงครึ่งข้าพเจ้าก็มาถึงเมืองลำพูน”
ซึ่งแน่นอนว่ายุคนั้นยังไม่มีการตัดถนนซุเปอร์ไฮเวย์ข้ามดอยขุนตานแต่อย่างใด ดังนั้นถนนที่นักกฎหมายชาวเบลเยียมเดินทางโดยขึ้นกูบช้างมานี้ ย่อมจะหมายถึงถนนสายอื่นใดไปมิได้ เว้นเสียแต่ถนนต้นยาง-ขี้เหล็กเพียงเส้นเดียวเท่านั้น
จากข้อความที่ยกมานี้ มีนัยที่ต้องขบคิดหลายประการ
ประการแรก ปิแยร์ โอร์ต ใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่สู่ลำพูนเป็นเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง (จากบ่าย 3 โมงจนถึง 6 โมงครึ่ง) เนื่องจากเป็นการเดินทางโดยขึ้นนั่งบนกูบช้าง หากเป็นสมัยปัจจุบันจะใช้ระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น
ประการที่สอง “ต้นไม้สูง” ที่ปิแยร์ โอร์ตเอ่ยถึงนั้น จะใช่ต้นยางนาหรือไม่ หรือเป็นไม้ป่าเบญพรรณทั่วไป หากหมายถึง “ต้นยางนา” ตามภาพประกอบที่ปรากฏอยู่ในหนังสือบันทึกของปิแยร์ โอร์ต ฉบับภาษาไทยที่แปลโดย “พิษณุ จันทร์วิทัน” ซึ่งนำมาลงในที่นี้ (แต่ในหนังสือไม่ระบุว่าชาวต่างชาติคนใดวาดเมื่อปีไหน ทราบกันแต่เพียงว่าเป็นภาพวาดเก่าในสมัยรัชกาลที่ 5 บ้างก็ว่าวาดโดยชาวฝรั่งเศส) หากปิแยร์ โอร์ตหมายถึง “ต้นยางนา” จริงล่ะก็ ถนนสายที่ปิแยร์ โอร์ตเดินทางมาจากเชียงใหม่สู่ลำพูน ก็ย่อมผ่านการ “จัดระเบียบ” ให้เรียบร้อยตามแนวคิดของชาวตะวันตกมาแล้วชั้นหนึ่ง ในลักษณะ Boulevard
Boulevard (บูลเลอวาร์) เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึงถนนที่มีการปลูกต้นไม้สองข้างทางอย่างร่มรื่น หรือไม่ก็ปลูกที่เกาะกลางถนน แนวคิดแบบ Boulevard ปรากฏในสยามประเทศหลายแห่ง โดยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างในยุคที่มีกระทรวงคมนาคมแล้ว ได้แก่ ถนนราชดำเนิน สีลม เยาวราช วังบูรพา อุณากรรม ดินสอ รวมไปถึงถนนเขตหัวเมืองสายสำคัญคือ สายเชียงใหม่–ลำพูน (ถนนต้นยาง-ขี้เหล็ก)
ดังนั้น อายุของต้นยางนาตามตรรกะนี้ ย่อมต้องปลูกมาก่อนปี พ.ศ. 2440 เป็นอย่างน้อย? กล่าวให้ง่ายก็คือ ภูมิทัศน์ต้นยางนาสองข้างทางอันร่มรื่น ต้องมีมาก่อนการเดินทางขึ้นเมืองเหนือของปิแยร์ โอร์ต
เว้นเสียแต่ว่า ภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้ไปหยิบเอาผลงานของใครอื่นมาแบบผิดฝาผิดตัว
ซึ่งก็ทำให้สงสัยอยู่นั่นเองว่า เหตุไฉน เอกสารของอำเภอสารภีเรื่องประวัติความเป็นมาของต้นยางนา กลับระบุไว้ว่า ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2438 โดยพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ถนนสายนี้เริ่มตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ เลียบแนวแม่น้ำปิงห่างที่วัดกู่ขาว จนถึงเมืองลำพูน สร้างบนผนังดินธรรมชาติของแม่น้ำปิงห่าง
ต่อมาพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพคนแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2445 – 2458 ได้มีนโยบายท้องถิ่นที่เรียก “น้ำต้องกองต๋ำ” คือต้องการพัฒนาคูคลองและถนนหนทาง จึงได้นำต้นยางนามาปลูกตลอดสองข้างทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน พอเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก โดย “คาดว่า” น่าจะปลูกเมื่อราว พ.ศ. 2445
จะเห็นได้ว่าข้อมูลเรื่องปีพุทธศักราชที่มีการลงมือปลูกต้นยางนาจริงๆ นั้น มิได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด จึงได้ใช้คำว่า “คาดว่า” โดยกำหนดเอาตัวเลข 2445 เป็นตัวตั้ง ด้วยเป็นปีแรกที่พระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ ได้รับมอบหมายให้มาดูแลมณฑลลาวเฉียง จึงยังคงเป็นปริศนาคาใจเช่นเดิมว่า “ต้นไม้สูง” ที่ปิแยร์ โอร์ต ประทับใจเมื่อปี 2440 กับภาพเขียนของชาวฝรั่งเศสที่น่าจะเดินทางมาเมืองเหนือร่วมสมัยเดียวกันกับปิแยร์ โอร์ต ในภาพนี้จะใช่ถนนสายต้นยางแล้วหรือยัง หรือเอาเข้าจริงแล้ว ข้อสรุปที่ว่า พระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ เริ่มนำต้นยางมาปลูกในปี 2445 เป็นข้อสันนิษฐานที่คลาดเคลื่อน
หันมาวิเคราะห์ประเด็นสุดท้ายที่ปิแยร์ โอร์ตบันทึกไว้ว่า “ภูมิประเทศดูเหมือนว่ามีราษฎรอาศัยอยู่หนาแน่น” ข้อความนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่ประการใด เหตุเพราะบริเวณอำเภอสารภี หรือเดิมชื่ออำเภอยางเนิ้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของถนนสายต้นยางนี้ ในอดีตเป็นที่ตั้งของราชธานีโบราณก่อนสร้างนครเชียงใหม่ อันเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนามของ “เวียงกุมกาม” นั่นเอง แสดงว่าภายหลังจากเหตุการณ์อุทกภัย ผู้คนอาจร้างไปพักใหญ่ หลังจากนั้นก็หวนกลับมาตั้งถิ่นฐานอีกหลายระลอก
สืบค้นได้เท่านี้เองล่ะหรือ ไม่มีเอกสารโบราณอื่นๆ อีกแล้วหรือเช่นไร ที่เอ่ยถึงถนนสายต้นยาง-ขี้เหล็กก่อนสมัยรัชกาลที่ 5
ตามรอยโคลงนิราศหริภุญไชย พบวัด “ยางหนุ่ม”
อันที่จริงก็พอจะมีอยู่ นั่นคือ “โคลงนิราศหริภุญไชย” ซึ่งเชื่อว่ารจนาโดยกวีในราชสำนักล้านนาที่ใช้นามว่า “ศรีทิพ” ในปี พ.ศ. 2060 ตรงกับรัชสมัยพระเมืองแก้ว เนื้อหาของอารามสถานจำนวนประมาณ 6 แห่ง นับแต่กวีเดินทางออกนอกเมืองเชียงใหม่ ก่อนเข้าสู่ลำพูน ตามเบี้ยบ้ายรายทางดังนี้ วัดกู่คำ (เจดีย์เหลี่ยม) เวียงกุมกาม วัดพระนอนหนองผึ้ง วัดยางหนุ่ม (ปัจจุบันคือวัดกองทราย) วัดหัวฝาย และตลาดต้นไทร (ต้นไร -ต้นไฮ) ทำให้เชื่อได้ว่ากวีผ่านเส้นทางสายเดียวกันกับถนนต้นยางในปัจจุบัน
คณะราชสำนักล้านนาใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่มาลำพูนโดยออกจากวัดพระสิงห์ เขตใจกลางเมืองเชียงใหม่เวลาบ่ายสามโมง มาแวะพักนอนที่วัดพระนอนหนองผึ้ง รุ่งเช้าเดินทางต่อใกล้เที่ยงถึงวัดพระธาตุหริภุญไชย เห็นได้ว่าใช้ระยะเวลาเดินทางยาวนานกว่าคณะของปิแยร์ โอร์ต เหตุเพราะมาคณะใหญ่ และแวะพักชมนกชมไม้ชมวัดวาอารามตลอดเส้นทาง
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องจินตนาการก่อนว่ายุคกระโน้น ยังไม่มีต้นยางนาปลูกเรียงสลอนเป็นทิวแถวเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่เชื่อว่าน่าจะมี “ต้นยางนา” อยู่ก่อนแล้วปะปนกับไม้ยืนต้นอื่นๆ ประเด็นที่น่าสนใจคือชื่อวัด “ยางหนุ่ม” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นวัดกองทรายในยุคหลัง เนื่องจากเคยผ่านการเป็นวัดร้างอยู่ช่วงหนึ่ง ครั้นเมื่อมีการฟื้นฟูวัดร้าง ขุดพื้นดินตรงไหนก็มีแต่ทรายทั้งสิ้น
สะท้อนว่าเมื่อครั้งที่กวีศรีทิพและคณะผ่านมาที่วัดนี้ ได้มีการพบวัดที่มีต้นยาง (หนุ่ม) อยู่ตั้งแต่สมัยล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อนแล้ว ปะปนกับไม้นานาพรรณดังนี้ จำปา สบันงา (กระดังงา) สีเสียด ส้มจุก ลูกจัน มะขวิด ตะขบป่า ทองกวาว ทองกวิว ส้มสุก (อโศก) ต้นไทร ต้นงิ้ว ไม้บง (ต้นไผ่) หญ้าแฝก คา อ้อ แขม ขวาก เลา ไม้กฤษณา ไม้จันทน์ กระลำพัก (ไม้หอมทำยา) ฯลฯ
วรรณกรรมลิลิตพระลอ ตอนพรรณนาฉากชมนกชมไม้ของเมืองเหนือตอนบน ได้มีการพูดถึงต้นยางหลายครั้ง อาทิ
ยางจับยางชมฝูง ยูงจับยูงยั่วเย้า หรือ
เข้าปงป่าไม้ ตะเคียนสูง ยางยูงไม้ไล่
จึงทำให้ทราบว่า “ต้นยาง(นา)” เป็นไม้พื้นเมืองที่พบเห็นกันดาษดื่นในแถบเมืองเหนืออยู่ก่อนแล้ว หาใช่ของใหม่หรือไม้นำเข้าที่เพิ่งนำมาปลูกโดยการดำริของข้าหลวงสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แต่อย่างใดเลย
นำมาสู่ปริศนาสุดท้ายในตอนที่ 1 ว่า ขณะที่ข้าหลวงสยามตัดสินใจปลูกต้นไม้สองข้างถนนจากเชียงใหม่สู่ลำพูน ทำไมจึงเลือก “ต้นยางนา” กับ “ต้นขี้เหล็ก” ทั้งๆ ที่มีไม้นานาพรรณอีกดาษดื่นให้เลือกสรร
เป็นการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดย พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ หรือว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่-ลำพูนขณะนั้นคือ เจ้าหลวงอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 กับเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 ก็มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อพรรณไม้
ที่สงสัยเช่นนี้ เหตุเพราะ “ต้นยางนา” เคยเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ไม้หมายเมือง” ของเชียงใหม่มาก่อนแล้ว ฉบับหน้าโปรดติดตาม “จากไม้หมายเมืองสู่ไม้หมายทาง”