“เวลาเห็นต้นยางนา ปลูกใหม่มันแห้งเหี่ยว ก็กลัวมันจะไม่รอด”
หลายคนที่ใช้ถนนเส้นต้นยางนา เชียงใหม่-ลำพูน คงจะคุ้นตากับ ต้นยางนาเล็กๆปลูกใหม่ และมีป้ายสีเหลืองๆ บอกหมายเลขอยู่ข้างๆ ลำต้น “เวลาเราเห็นต้นยางปลูกใหม่แห้งเหี่ยวเราก็ใจเสีย กลัวมันจะไม่รอด”
ทุกครั้งที่เราเจอกับลุงรงค์ แกจะพูดประโยคนี้ให้ได้ยินเสมอ เพราะช่วงหน้าแล้ง (พฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปี) เป็นช่วงที่ต้นยางนาเล็ก (ต้นยางปลูกทดแทน) จะเริ่มขาดน้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นยางมีสภาพแห้ง ใบเริ่มเหลือง ทีมอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา โดยเฉพาะ ลุงรงค์ ลุงสิทธิ์ และป้าเล็ก จะเป็นทีมอาสา ที่คอยออกมารดน้ำ ดูแลต้นยางปลูกใหม่ บนถนนสาย 106 อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน
การปลูกต้นยางนาทดแทนต้นเดิมที่ล้มหายไป หรือปลูกข้างตอเดิม ได้เริ่มกิจกรรมรณรงค์ปลูกกันตั้งแต่ ทำกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัครทั่วประเทศไทย นำโดย อเล็กซ์ เรนเดลล์ จากกลุ่ม The Cloud พร้อมด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา เทศบาลทั้ง5 พื้นที่ คือ เทศบาลตำบลสารภี เทศบาลตำบลยางเนิ้ง เทศบาลตำบลหนองผึ้ง เทศบาลตำบลหนองหอย และเทศบาลนครเชียงใหม่ ครั้งแรกปลูกทั้งหมดจำนวน 49 ต้นตั้งแต่เทศบาลตำบลสารภี ถึงเทศบาลตำบลหนองหอย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2561
กิจกรรมในวันนั้นผ่านพ้นไปด้วยดี จากการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครทั่วประเทศที่มีความตั้งใจที่จะร่วมกันปลูกต้นไม้และอยากเรียนรู้งานหมอต้นไม้กับการดูแลจัดการต้นยางนา โดยมีทีมเครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม และอาสาสมัครพิทักษ์ยางนาเป็นพี่เลี้ยงในการสอนปลูก แต่เนื่องจากการทำกิจกรรมปลูกต้นยางอยู่ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเข้าฤดูแล้ง อากาศแห้ง หลังจากปลูกไม่นานเลยทำให้มีต้นยางนาแห้งตายไปประมาณ 16 ต้น
หลังจากนั้น งานปลูกต้นยางนาทดแทน ก็ยังคงมีปลูกกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังว่าเราจะมีต้นยางนาอยู่ตลอด 2 ฝั่งถนนเหมือนสมัยอดีตให้มากที่สุด แต่มันก็ไม่ง่ายเลย เพราะพื้นที่บางแห่งไม่มีพื้นที่ที่จะสามารถปลูกต้นยางนาได้ ตรงจุดเดิม (สังเกตว่ามีต้นยางอยู่ฝั่งตรงข้ามเพราะสมัยอดีตมีการปลูกต้นยางนาคู่กันไปตาม 2 ข้างทาง) บางตำแหน่งที่เล็งปลูกไว้อยู่ใต้สายไฟฟ้า หรือมีการเทคอนกรีต บางตำแหน่งอยู่ตรงหน้าร้านค้า ซึ่งก็เป็นปัญหาบังทางเข้าออกร้านบริเวณนั้น มีหน้าบ้านบางบ้านที่เจ้าของเขาไม่ยอมให้ปลูกเพราะกลัวมันล้มหรือมีกิ่งหักเวลามีลมพายุ แต่บางบ้านขนาดว่าเคยโดนกิ่งยางล้มทับทั้งหลัง พอเราไปคุยเจรจาเขาก็ยินยอมให้ปลูก เพราะเหตุผลว่ามีร่มเงาให้บังความร้อนได้บ้าง (บ้านที่อยู่ตรงข้ามปั๊มน้ำมัน ปตท.หนองผึ้ง)
การปลูกต้นยางนาทดแทนครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้นในกิจกรรม อบรมอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา (อสย.) รุ่นที่ 3 ซึ่งมีทั้งชาวบ้านในชุมชน ครู นักเรียน จากโรงเรียนสารภีพิทยาคม และวิทยาลัยเทคนิคสารภี มาร่วมกันปลูกต้นยางนา เพิ่มขึ้นอีก 39 ต้น แยกเป็นปลูกซ่อมต้นยางที่ตายไปในรอบแรก 16 ต้น
23 ตุลาคม 2562 คือ ครั้งที่ 3 ของการรณรงค์ปลูกต้นยางนา บนถนนสาย 106 เพิ่มอีก 10 ต้น ในงานกิจกรรมจิตอาสาในเขตอำเภอสารภี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ เป็นประธานในการเปิดงาน และร่วมปลูกต้นยางนา หน้าวัดสารภี 1 ต้น นอกจากภาคประชาชน ร่วมกับภาคหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในพื้นที่แล้ว ยังมีภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมปลูกอีกหลายบริษัท ได้แก่ บ.ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด, สโมสรโรตารี่ ถิ่นไทยงาม, บ.นพดลพานิช จำกัด, บ.ซันสวีท จำกัด,บ.โตโยต้าริช จำกัด, บ.เอ็กซาซีแลม จำกัด, บ.เลิศวศิน (2020) จำกัด, บ.เชียงใหม่ทูลส์ จำกัด
เรื่องโดย :อมรรัตน์ โชติกะมงคล เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม