ความเป็นมาของต้นยางนาบนถนนสายประวัติศาสตร์ เชียงใหม่ – ลำพูน
(พ.ศ.๒๔๒๕ – พ.ศ.๒๕๖๐)
เรียบเรียงจากเอกสารโครงการการรักษาฟื้นฟูระบบรากยางนาฯ
ภาพจาก www.Topchiangmai.com
ต้นยางนาถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เริ่มปลูกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ โดยมหาอำมาตย์โท เจ้าพระยาสุรสีห์ วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนจรดเขตจังหวัดลำพูน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ราชการได้นำต้นยางนามาให้ราษฎรช่วยกันปลูกเพิ่มเพื่อความร่มรื่น สวยงามตลอดสองข้างทางในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และปลูกต้นขี้เหล็กในเขตจังหวัดลำพูน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายนี้จวบจนถึงปัจจุบัน
และเมื่อเมืองเชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือเจริญเติบโตขึ้นตามยุคสมัย ก็ส่งผลให้ถนนสายต้นยางนาเชียงใหม่-ลำพูน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยสามารถแบ่งช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของถนนต้นยางนาได้ ๓ ช่วงเวลาหลัก คือ
ช่วงที่ ๑ ต้นยางนาในยุคไม้หมายทางเชียงใหม่-ลำพูน (พ.ศ. ๒๔๒๕ – ๒๕๔๙)
ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๖) เป็นเส้นทางคมนาคมทางบกที่เลียบตามแนวแม่น้ำปิงในการติดต่อค้าขายระหว่างชาวเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน มาตั้งแต่พระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ หรือมากกว่า ๗๐๐ ปี แต่การปลูกต้นยางนาริมถนนดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (เจ้าอินทนนท์)เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ โดยมหาอำมาตย์โท เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ได้ปลูกตลอดสองข้างทางตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนจรดเขตจังหวัดลำพูน ใน พ.ศ.๒๔๒๕ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ทางราชการได้นำต้นยางนามาให้ราษฎรช่วยกันปลูกเพื่อความร่มรื่น สวยงามตลอดสองข้างทางในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และปลูกต้นขี้เหล็กในเขตจังหวัดลำพูน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายนี้จนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จังหวัดเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต้นยางนาบริเวณถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อพิจาณาหาแนวทางพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวแก่ราษฎรที่อาศัยบริเวณสองข้างทาง และผู้ใช้เส้นทางให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลวิธีการและแนวทางที่ถูกต้องในการบำรุงรักษา อนุรักษ์ต้นยางให้สามารถคงอยู่ต่อไปโดยไม่เกิดปัญหาแก่ประชาชน นับแต่นั้นเป็นต้นมาหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ต้นยางนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ ได้เข้ามามีบทบาทผลักดันมูลนิธิรักษ์ยางนา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการดูแลต้นยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูนมากขึ้น
ช่วงที่ ๒ ยุคการอนุรักษ์ต้นยางนาในช่วง พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๗
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับต้นยางนาในพื้นที่อำเภอสารภี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดห้องเรียนคอมพิวเตอร์พระราชทาน ณ ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ณ ศูนย์สุขภาพระรินจินดา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ไว้ว่า “ฝากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อย่าให้ใครตัดต้นยางที่ถนนเชียงใหม่-ลำพูน เพราะไม่มีที่ไหนอีกแล้ว”
จังหวัดเชียงใหม่จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต้นยางนาบริเวณถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ตามคำสั่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๑๐๑๑/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกรรมการ เพื่อพิจาณาหาแนวทางพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวแก่ราษฎรที่อาศัยบริเวณสองข้างทาง และผู้ใช้เส้นทางให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลวิธีการและแนวทางที่ถูกต้องในการบำรุงรักษา อนุรักษ์ต้นยางให้สามารถคงอยู่ต่อไปโดยไม่เกิดปัญหาแก่ประชาชน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เห็นถึงความสำคัญของการดำรงอยู่ของต้นยางนาจึงจัดสรรงบประมาณจำนวน ๕๙๒,๐๐๐ บาท มาให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ ร่วมกับกลุ่มพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ฝ่ายวนวัฒนวิจัยและพฤกษศาสตร์ ทำศัลยกรรมบาดแผลต่าง ๆ ของต้นยางนาเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการจำนวน ๑๐๐ ต้น
ต่อมาในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน ๑๘๒,๖๐๐ บาท สำหรับจัดงานพิธีเปิดโครงการอนุรักษ์ต้นยางนาสองข้างถนนสายเชียงใหม่- ลำพูน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานในพิธีเปิด ณ บริเวณสวนสุขภาพเทศบาล ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และจัดสรรงบประมาณจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ ดำเนินการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ แขวงการทางเชียงใหม่ที่ ๒ ได้ส่งมอบพื้นที่ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูนและต้นยางนาสองฝั่งถนนให้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลในพื้นที่ช่วยดูแลด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับโครงการการอนุรักษ์ต้นยางนาตามแผนงานต่อเนื่องที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ เสนอขอแต่อย่างใด แต่ได้เสนอของบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการต่อมาในปีงบประมาณ ๒๕๕๓และ ๒๕๕๔ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการสำรวจต้นยางนาทุกต้นพร้อมร่างจัดทำแบบภูมิทัศน์ เป็นต้น
พ.ศ. ๒๕๕๔ ชุมชนทั้ง ๕เทศบาลตำบลและเทศบาลนครเชียงใหม่ตลอดสายถนนต้นยางนาเชียงใหม่-ลำพูน ได้ริเริ่มรวมกลุ่มจัดตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ต้นยางนา พร้อมเสนอการปลูกต้นยางนาเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน ๙ต้น ต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ เป็นต้น ได้ให้การสนับสนุน โดยจัดทำโครงการปลูกต้นยางนาเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔พรรษา ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗รอบขึ้น ในวันที่ ๔ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยต้นยางนาได้มาจากประชาชน รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.ชม.)ในการขนส่งต้นยางนาและการจัดพิธีการเฉลิมพระเกียรติฯ
พ.ศ.๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ มีการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ และการจัดการพื้นที่สีเขียวเมืองเก่าเชียงใหม่ ตามแนวคิดนิเวศประวัติศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม พื้นที่ดำเนินการ คือ พื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ ๕ ชุมชน และเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นพื้นที่นำร่อง มีเครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ร่วมกับโครงการหมอต้นไม้อาสา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันดำเนินงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม
ช่วงที่๓ ยุคประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้มีการประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ ต้นยางนาและต้นขี้เหล็ก โดยคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ ๑๗๒/๒๕๕๘ โดยอำนาจตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดให้พื้นที่ที่วัดจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน ออกไปด้านละ ๔๐ เมตร ตั้งแต่ลำเหมืองพญาคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ถึงสุดเขตตำบลอุโมงค์ อำเภอลำพูน จังหวัดลำพูน ในท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูนเป็นพื้นที่ ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เกิดพายุหมุนโค่นต้นยางนา สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนราษฎรบนสองฝั่งถนนเป็นอย่างมาก และในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๙คณะกรรมการคุ้มครองยางนาฯ จึงได้ประชุมหารือถึงมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนแก่ประชาชน
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูต้นยางนาในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอำเภอสารภี ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ประจำปีงบประมาณ
พ.ศ. ๒๕๖๐ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศให้ต้นยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูนบริเวณหน้าวัดสารภี ได้เป็น ๑ ใน ๖๕ แห่ง ในโครงการ “วัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” ซึ่งถือว่าเป็นการตอกย้ำความสำคัญและศักยภาพของพื้นที่เป็นอย่างดี รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของการท่องเที่ยวที่เน้นให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น
ปัจจุบันต้นยางนาสองฝั่งถนนได้รับผลกระทบจากแนวทางการพัฒนาเมืองในอดีตซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับมิติทางสิ่งแวดล้อมมากเท่าที่ควร จนนำไปสู่การเริ่มทรุดโทรม หักโค่น ล้มตาย สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน ร้านค้า และผู้ใช้เส้นทางสัญจรไปมา สถานการณ์ปัญหานับวันจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากขาดความสม่ำเสมอในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการฟื้นฟู ดูแล และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าจากกรณีต้นยางนาหักโค่น รวมทั้งสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างประชาชนที่อยู่ใต้ต้นยางนาที่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของผู้คนเป็นอันดับแรก ในขณะที่ประชาชนที่อยู่ห่างจากต้นยางออกไปมีความเห็นว่าต้องอนุรักษ์ต้นยางนาเอาไว้ก่อนเป็นประการแรก เป็นต้น
แม้ภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ต่างก็พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หากก็ยังล่าช้า และยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า สถานการณ์ของต้นยางนาเชียงใหม่–ลำพูน จะเป็นไปในทางทิศทางใด จะนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการดำรงอยู่ของต้นยางนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต