ภารกิจคืนชีวิตให้ปู่ยางนา ตอนที่ 5:
เมื่อคุณก็เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ต้นยางได้ 

หลังจากแนะนำอาชีพ ‘หมอต้นไม้’ กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในภารกิจฟื้นคืนชีวิตต้นยางนาจำนวน 900 กว่าต้นริมถนนเชียงใหม่-ลำพูน วันนี้จึงขอเล่าถึงอีกหนึ่งเรี่ยวแรงสำคัญที่จะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จ นั่นคือเหล่า ‘อาสาสมัครพิทักษ์ยางนา’ กลุ่มอาสาสมัครชาวเชียงใหม่ที่มาร่วมทำหน้าที่คล้ายผู้ช่วยหมอต้นไม้

นี่คือกลุ่มจิตอาสาที่อยากเห็นต้นยางนาอยู่คู่เมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืนและปลอดภัย (และต่อสวัสดิภาพผู้คน) ไปอีกร้อยๆ ปี ที่น่าสนใจคือถึงแม้จะเปรียบเป็นผู้ช่วยหมอต้นไม้ แต่นี่คืออาสาสมัครที่คุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญเรื่องการพยาบาลต้นไม้เลยก็ได้… 

ใช่แล้ว, แค่เพียงคุณมีใจ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ต้นยางนาได้

ประกอบขึ้นจากชาวชุมชนทั้ง 5 เขตเทศบาลตลอดถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน (เทศบาลนครเชียงใหม่, หนองหอย, หนองผึ้ง, ยางเนิ้ง และสารภี) ชาวชุมชนที่มีชีวิตประจำวันผูกพันกับต้นยางนา รวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเครือข่ายภาคประชาชนอีกหลากหลาย กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ยางนาเริ่มรวมตัวกันตั้งแต่ปลายปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสื่อพลเมืองไทยพีบีเอส พัฒนาแอปพลิเคชั่น C-SITE ซึ่งทำงานร่วมกับ Google Map ในการปักหมุดต้นยางนาทั้ง 949 ต้นเพื่อลงทะเบียนสำหรับการตรวจสุขภาพต้นไม้ก่อนการฟื้นฟู

ภายหลังที่ได้รับการอบรมและเข้าคอร์สสำรวจสุขภาพต้นยางนาขั้นพื้นฐานจากเหล่าหมอต้นไม้ อาสาสมัครฯ ก็ได้ทำการแบ่งทีมลงพื้นที่เพื่อตรวจเช็คสภาพต้นไม้ ระบุความเสี่ยงและความเร่งด่วนในการฟื้นฟูของต้นยางนาทุกต้นลงในฐานข้อมูลของ C-SITE เพื่อเป็นการปูทางให้กับกลุ่มหมอต้นไม้ (รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครฯ เอง) ที่จะมารับไม้ต่อในการฟื้นฟูต้นยางนาทั้งหมดให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ตามเดิม (ปัจจุบันมีการลงพื้นที่ฟื้นฟูไปจำนวนหนึ่งแล้ว)

“ที่บอกว่าใครๆ ก็มาร่วมดูแลต้นยางนาได้นี่หมายความเช่นนั้นจริงๆ ครับ คือคุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องต้นไม้ก็ได้ เพราะเรามีคนที่มีความเชี่ยวชาญที่พร้อมจะมอบความรู้และทักษะให้คุณอยู่แล้ว หรือเอาเข้าจริง การเป็นอาสาสมัครฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเอาแต่ขุดดินและตากแดด แต่การร่วมเป็นหูเป็นตา ช่วยกันสังเกตอาการ หรือลำพังช่วยกันเช็ค ช่วยกันแชร์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในโซเชียล ก็ถือเป็นการร่วมกันดูแลต้นยางนาของพวกเราแล้ว” ธนาวัน เพลินทรัพย์ ผู้ประสานงานกิจกรรมอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา กล่าว

ทั้งนี้ธนาวันยังมองว่าเขาอยากชวนเด็กๆ และเยาวชนให้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในกิจกรรมครั้งนี้ เพราะนี่จะเป็นเมล็ดพันธุ์สำคัญในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นไม้ในหมู่คนรุ่นใหม่ และเป็นการสานต่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ได้ริเริ่มไว้ ที่สำคัญคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสื่อสารบนโลกโซเชียล และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้น โดยเท่าที่ผ่านมา ธนาวันก็ค่อนข้างพอใจที่มีคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยมาร่วมเป็นอาสาสมัครนี้อย่างแข็งขัน

“ถ้าไม่มีอาสาสมัครฯ ภารกิจฟื้นฟูต้นยางนาเก้าร้อยกว่าต้นจะไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ที่เป็นรูปธรรมกว่านั้นก็คือ โครงการอาสาสมัครฯ นี้ ทำให้เราพบว่ามีคนเชียงใหม่มากมายที่อยากมีส่วนร่วมในการดูแลเมืองของเรา พวกเขาไม่อยากได้แต่นั่งอ่านข่าวในเฟซบุ๊ค และก็ได้แต่บ่นกับข่าวที่ไม่ตรงใจเขาต่อไป หากนี่เปิดโอกาสให้เราทุกคนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาเมืองด้วยตัวเอง จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน” ธนาวัน กล่าว

เช่นที่ธนาวันบอก จะช่วยมากหรือน้อยก็ขึ้นแต่แรงและเวลา แต่นั่นล่ะ นี่เป็นอีกหนึ่งหนทางที่เราจะมีส่วนร่วมในการดูแลเมืองที่เรารัก ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินไป